top of page

ที่มาและความสำคัญ

        อาชญากรรมไซเบอร์ เป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง นี่เป็นข้อความสำคัญที่อดีตเจ้าหน้าที่ด้านข่าวกรองสหรัฐอเมริกาเปิดเผยต่อโลก เมื่อวันจันทร์ (9 มิ.ย.) เพื่อเตือนให้สมาชิกของโลกไซเบอร์ทั้งบุคคลทั่วไป และองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน หรือ รัฐบาล ระมัดระวังตัวมากขึ้น ข้อความที่สำคัญต่อมาคือโลกธุรกิจสูญเสียรายได้จากการขโมยข้อมูลในโลกไซเบอร์คิดเป็นมูลค่าราว 445,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 13.35 ล้านล้านบาท) ต่อปี เพราะฝีมือของแฮ็กเกอร์ด้านมืด นอกจากนั้นบริษัทการเงิน ค้าปลีก และพลังงาน ยังเป็นเป้าหมายหลักของการขโมยข้อมูลสำคัญจากคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ของบริษัทเหล่านั้น

 

           นายสต็วร์ท เบเคอร์ ผู้นำการศึกษาเกี่ยวกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ และที่ปรึกษาสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสเอ) ในยุคทศวรรษ 2543 ที่ในเวลาต่อมาเข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ กล่าวยืนยันว่า อาชญากรรมไซเบอร์เกิดขึ้นแล้วและยังคงอยู่ต่อไป 

 

            คำถามที่สำคัญคือ เรารู้หรือไม่ว่าเผชิญกับการสูญเสียทรัพยากรในด้านต่างๆ เช่น รายได้ กำไร หรือข้อมูล ไปกับอาชญากรรมไซเบอร์มากน้อยเพียงใด

 

            ในรายงานของนายเบเคอร์ระบุว่า ชาวอเมริกัน 40 ล้านคน ถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวไปในปี 2556 และบริษัทน้ำมันที่ไม่เปิดเผยชื่อสูญเสียโอกาสในการทำธุรกิจมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ หลังจากที่แฮ็กเกอร์เจาะข้อมูลล้วงความลับเกี่ยวกับการสำรวจแหล่งน้ำมัน

 

             ปัญหาดังกล่าวรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นการที่รัฐบาลในบางประเทศว่าจ้างแฮ็กเกอร์ เพื่อล้วงข้อมูลทางการค้าของอีกประเทศหนึ่ง เช่นเดียวกับองค์กรอาชญากรรม และ บริษัทคู่แข่งว่าจ้างแฮ็กเกอร์เพื่อล้วงข้อมูลจากอีกฝ่ายหนึ่งตามที่ต้องการ และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงและแพร่หลายยิ่งขึ้นเมื่อข้อมูลเหล่านั้นสามารถซื้อขายกันได้โดยใช้สกุลเงินดิจิทัล เช่น บิทคอยน์ ทำให้ไม่ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ขโมยมาเป็นเงินจริงในระบบธนาคาร

 

              แฮ็กเกอร์สามารถขโมยข้อมูลสำคัญของเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าหากแฮ็กเกอร์ตั้งเป้าเจาะข้อมูลที่เป็นความลับสุดยอดขององค์กรธุรกิจ เช่น แผนการควบรวมกิจการ หรือนโยบายธุรกิจของบริษัท และข้อมูลเกี่ยวกับคดีความจากสำนักงานกฎหมาย จะก่อให้เกิดอันตรายต่อองค์กรธุรกิจและบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างร้ายแรง

 

               นายเบเคอร์เชื่อว่า แฮ็กเกอร์ตระหนักดีว่าสามารถสร้างผลประโยชน์จากการแฮ็กข้อมูลสำคัญขององค์กรเอกชนได้ และนี่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในโลกไซเบอร์ที่ผู้คนและองค์กรธุรกิจต่างพึ่งพาการใช้อินเทอร์เน็ตในการติดต่อสื่อสาร ทำให้ทุกคน และทุกองค์กรสามารถเป็นเป้าหมายของแฮ็กเกอร์ด้านมืดได้ด้วยเช่นกัน

 

              นายไมค์ โรเจอร์ส ประธานกรรมาธิการด้านข่าวกรองแห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา กังวลว่า ข้อมูลที่ถูกเจาะมานั้นอาจจะถูกนำมาใช้สร้างความวุ่นวายในตลาดการเงินออนไลน์ ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาพึ่งพาการค้าเงินหุ้น ค่าเงิน สินค้าเกษตร และสินค้าสำคัญอื่นๆ ในระบบออนไลน์ และตลาดเหล่านี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีมาตรการป้องกันการสร้างความวุ่นวายจากการถูกแฮ็กเกอร์เจาะระบบหรือนำข้อมูลที่ได้จากการเจาะระบบมาสร้างความปั่นป่วนในตลาดได้อย่างไร 

 

              ปัจจุบันมูลค่าความเสียหายจากอาชญากรรมในโลกไซเบอร์อยู่ที่ประมาณ 0.8% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของโลก ซึ่งเป็นอัตราสูญเสียที่สูงกว่าความเสียหายจากปฏิบัติการของโจรสลัดปล้นเรือสินค้าในทะเลที่สร้างความเสียหายประมาณ 0.2% ของจีดีพีโลก และใกล้เคียงกับมูลค่าความเสียหายจากการก่ออาชญากรรมข้ามประเทศที่มีมูลค่าราว 1.2% ของจีดีพีโลก 

 

                          อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและบริษัทเอกชนบางแห่งได้บวกเอามูลค่าความเสียหายจากอาชญากรรมในโลกไซเบอร์เข้าไปเป็นต้นทุนการปฏิบัติการทางออนไลน์ เพื่อปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และผลักภาระไปให้ประชาชนและผู้บริโภค แต่ต้นทุนในส่วนนี้จะไม่มีผลกระทบที่ชัดเจนจนกว่ามูลค่าความเสียหายจากอาชญากรรมในโลกไซเบอร์จะปรับสูงขึ้นเหนือกว่า 2% ของจีดีพีโลก

 

              ขณะที่ตัวเลขมูลค่าความเสียหายจากอาชญากรรมไซเบอร์ในปัจจุบันยังไม่สามารถประเมินเป็นตัวเลขที่ชัดเจนได้ แต่นายคีธ อเลกซานเดอร์ อดีตผู้อำนวยการเอ็นเอสเอ ประเมินว่า ในปี 2555 บริษัทอเมริกันสูญเสียไปกว่า 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการถูกขโมยข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ ด้านแมคอาฟี่ ประเมินว่า ในปี 2552 บริษัททั่วโลกสูญเสียรายได้รวมกันกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนใหญ่เป็นการสูญเสียรายได้จากการถูกขโมยทรัพย์สินทางปัญญา

 

              ดังนั้นจากการที่แฮ็กเกอร์เห็นช่องทางการขายข้อมูลที่เจาะมาได้ และปัจจัยด้านความไม่พร้อมของตลาดการเงิน รวมทั้งการปรับตัวที่ล่าช้าขององค์กรภาครัฐและเอกชน ทำให้เชื่อได้ว่าอาชญากรรมทางไซเบอร์จะเติบโตได้มากขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้และจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสภาพเศรษฐกิจ ธุรกิจ รวมทั้งชีวิตประจำวันของผู้บริโภคที่ต้องใช้สินค้าที่แพงขึ้น หรือ มีข้อจำกัดมากขึ้นนั่นเอง

 

              อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ หมายถึง  การกระทำผิดทางอาญาในระบบคอมพิวเตอร์ หรือการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อกระทำผิดทางอาญา เช่น ทำลาย เปลี่ยนแปลง หรือขโมยข้อมูลต่าง ๆ เป็นต้น   ระบบคอมพิวเตอร์ในที่นี้ หมายรวมถึงระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เชื่อมกับระบบดังกล่าวด้วยสำหรับอาชญากรรมในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (เช่น อินเทอร์เน็ต) อาจเรียกได้อีกอย่างหนึ่ง   คือ อาชญากรรมไซเบอร์ (อังกฤษ: Cybercrime) อาชญากรที่ก่ออาชญากรรมประเภทนี้ มักถูกเรียกว่า แครกเกอร์

 

อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ คือ

1.การกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ อันทำให้เหยื่อได้รับความเสียหาย และผู้กระทำได้รับผลประโยชน์ตอบแทน

2.การกระทำผิดกฎหมายใด ๆ ซึ่งใช้เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือและในการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่เพื่อนำผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีต้องใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีเช่นเดียวกัน การประกอบอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อเศรษฐกิจของประเทศจำนวนมหาศาล อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ จึงจัดเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ อาชญากรรมทางธุรกิจรูปแบบ หนึ่งที่มีความสำคัญ

 

 

 

 

                                                                                          

 

ที่มารูปภาพ : thecinderellacompany.com

bottom of page